Singapore Thai Chamber of Commerce Bangkok

ข้อบังคับของ หอการค้าสิงคโปร์ - ไทย | STCC Thailand

ข้อบังคับ
ของหอการค้าสิงคโปร์-ไทย

หมวด 1  ชื่อและที่ตั้ง

ข้อ 1.
หอการค้านี้มีชื่อว่า “หอการค้าสิงคโปร์-ไทย” ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “หอการค้า” และเขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Singapore-Thai Chamber of Commerce”

ข้อ 2.
หอการค้านี้มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ เลขที่ 193/8 อาคารเลครัชดา ออฟฟิศ คอมเพล็กซ์ ชั้น 1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110

ข้อ 3.
ตราของหอการค้ามีรูปเป็นเครื่องหมายดังนี้ รูปวงกลมมีอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า “SINGAPORE THAI CHAMBER OF COMMERCE” ตรงกลางมีอักษรย่อภาษาอังกฤษเขียนว่า “S.T.C.C.”

หมวด 2  วัตถุประสงค์

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของหอการค้ามีดังต่อไปนี้
4.1          ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย
4.2          ส่งเสริมความร่วมมือและสัมพันธภาพทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ในประเทศไทยและในภูมิภาคต่างๆ
4.3          ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศในการพัฒนาการค้า อุตสาหรกรรม การลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
4.4          ให้คำปรึกษา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลประโยชน์ในทางธุรกิจของชาวสิงคโปร์ในประเทศไทยและในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งด้านการค้า การอุตสาหกรรม การลงทุน และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
4.5          ดำเนินกิจกรรมและให้บริการต่างๆ ตามหน้าที่ของหอการค้า
4.6          เพื่อรวบรวมข่าวสาร ข้อมูล และสถิติทางการค้าทั่วไปในด้านอุตสาหกรรม กฎหมายและการเงิน อันเป็นประโยชน์เพื่อเผยแพร่แก่สมาชิก
4.7          เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

หมวด 3  สมาชิกภาพ

ข้อ 5.
หอการค้านี้ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทย และมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติสิงคโปร์หรือนิติบุคคลที่มีบุคคลธรรมดาสัญชาติสิงคโปร์เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นตั้งแต่กึ่งจำนวนเงินทุนของนิติบุคคลนั้น รวมทั้งสาขาของนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ และสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจในทางการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน หรือเศรษฐกิจ

ข้อ 6.
สมาชิกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
6.1          สมาชิกสามัญ
6.2         สมาชิกสมทบ
6.3         สมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 7.
“สมาชิกสามัญ” ได้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจในทางการค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน หรือเศรษฐกิจอื่นๆ และการเป็นสมาชิกนั้นได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการโดยสมาชิกสามัญส่วนใหญ่ของหอการค้าต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติสิงคโปร์ โดยสมาชิกสามัญแต่ละรายมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งเสียง ในกรณีที่สมาชิกสามัญเป็นนิติบุคคลและนิติบุคคลนั้นได้แต่งตั้งตัวแทนเข้าร่วมประชุมมากกว่าหนึ่งคน ให้ถือว่าสิทธิออกเสียงของตัวแทนเหล่านั้นนับเป็นหนึ่งเสียง

ข้อ 8.
“สมาชิกสมทบ” ได้แก่บุคลลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติครบตามที่ระบุไว้ในข้อ 5 แต่ไม่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม
สมาชิกสมทบ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
8.1      สมาชิกสมทบที่เป็นบุคคลธรรมดามีอายุต่ำกว่า 30 ปี
8.1      สมาชิกสมทบที่เป็นบุคคลธรรมดามีอายุ 30 ปี หรือเกินกว่า 30 ปี
8.1      สมาชิกสมทบที่เป็นนิติบุคคล

ข้อ 9.
“สมาชิกกิตติมศักดิ์” ได้แก่บุคลลธรรมดา หรือนิติบุคคลซึ่งจะให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือผู้ซึ่งบริจาคที่ดินแก่หอการค้าในระยะยาว คณะกรรมการเป็นผู้คัดเลือกสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 10. คุณสมบัติของสมาชิก นอกจากคุณสมบัติของสมาชิกหอการค้าตามข้อ 7, 8, 9 แล้ว ยังต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ
10.1      ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา
10.1.1    เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
10.1.2    ไม่เป็นบุคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
10.1.3    ไม่เคยเป็นบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาให้ต้องโทษจำคุกมาก่อน เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
10.1.4    เป็นผู้มีฐานะทางการเงินที่มั่งคงพอสมควร
10.1.5    เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
10.2       ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
10.2.1    ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
10.2.2    มีการดำเนินกิจการและเป็นนิติบุคคลที่มีผลกำไรอย่างสม่ำเสมอและไม่มีวี่แวว ประสบความล้มเหลว
10.2.3    จดทะเบียนประกอบการอย่างถูกต้องกับทางการ ณ สถานที่ประกอบการตั้งอยู่สมาชิกที่เป็นนิติบุคคลอาจแต่งตั้งบุคคลธรรมดาขึ้นหนึ่งคนเป็นผู้แทนประจำ หรือบุคคลธรรมดาอีกหนึ่งคนเป็นผู้แทนสำรอง เพื่อให้มีอำนาจกระทำการแทนบุคคลนั้นได้ในกิจการเกี่ยวกับหอการค้าผู้แทนประจำ หรือผู้แทนสำรองอาจใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้นได้เพียงเท่าที่นิติบุคคลนั้นจะพึงมีสิทธิบุคคลใดซึ่งเป็นผู้แทนประจำ หรือผู้แทนสำรองของนิติบุคคลหนึ่งแล้วไม่อาจถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจำหรือผู้แทนสำรองของนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งได้ให้นำความในข้อ 10. มาใช้แก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้กระทำการแทนนิติบุคคลนั้น

ข้อ 11.
คณะกรรมการจะเป็นผู้เสนอ แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อุปถัมภ์หอการค้า โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญ หรือที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี กรณีผู้อุปถัมภ์ลาออกให้คณะกรรมการแจ้งสมาชิกทราบ ผู้อุปถัมภ์นั้นจะต้องมีวิชาชีพและภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือประเทศสิงคโปร์และเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำแก่หอการค้าได้

ข้อ 12.
การสมัครเป็นสมาชิกมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
12.1        ยื่นใบสมัครเป็นลายลักษณ์อักษรถึงสำนักงานหอการค้าโดยระบุข้อความดังต่อไปนี้
12.1.1    ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ โทรพิมพ์และโทรสารของผู้สมัคร
12.1.2    ประเภทของสมาชิกที่ขอสมัคร
12.1.3    ประเภทวิสาหกิจที่ผู้สมัครประกอบการ
12.2      หลังจากได้รับใบสมัครแล้ว ให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการในการประชุมครั้งต่อไป การรับเป็นสมาชิกจะต้องได้รับมติจากที่ประชุมคณะกรรมการซึ่งต้องมีคะแนนเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุมวันเริ่มสมาชิกภาพ หลังจากคณะกรรมการมีมติให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกแล้วให้สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติให้รับผู้สมัครเป็นสมาชิกของหอการค้า
12.3      เมื่อคณะกรรมการได้รับผู้สมัครเป็นสมาชิกแล้วต้องแจ้งให้ผู้สมัครทราบทันที

ข้อ 13.
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
13.1        สิทธิของสมาชิก สมาชิกของหอการที่ยังคงสมาชิกภาพและที่ได้ชำระค่าสมาชิกครบถ้วนแล้วมีสิทธิดังต่อไปนี้
13.1.1    ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของหอการค้าจากหอการค้าเท่าที่จะอำนวยได้
13.1.2    เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อหอการค้าในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของหอการค้าให้แก่ คณะกรรมการหรือที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือที่ประชุมวิสามัญ
13.1.3    ยื่นคำขอตรวจสอบความถูกต้องและทรัพย์สินของหอการค้าได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการ
13.1.4    เข้าร่วมประชุมใหญ่และออกเสียง
13.1.5    มีสิทธิประดับเครื่องหมายของหอการค้าในลักษณะที่มีเกียรติและเหมาะสม
13.1.6    เป็นผู้รับมอบฉันทะของสมาชิกอื่นในการเข้าร่วมประชุมใหญ่และออกเสียงลงคะแนนแทนสมาชิกผู้นั้น
13.2        หน้าที่ของสมาชิก สมาชิกของหอการค้ามีหน้าที่ดังนี้
13.2.1    ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของหอการค้า มติที่ประชุมใหญ่ มติของที่ประชุมคณะกรรมการ
13.2.2    ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ส่วนได้เสียของหอการค้า ไม่เปิดเผยข้อความซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่หอการค้าโดยเด็ดขาด
13.2.3    ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของหอการค้าให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ
13.2.4    ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีธรรมระหว่างสมาชิกและปฏิบัติกิจการค้า และธุรกิจอื่นๆ ในทำนองช่วยเหลือกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
13.2.5    ชำระค่าธรรมเนียมให้แก่หอการค้าตามกำหนด
13.2.6    สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทธุรกิจหรือผู้แทนนิติบุคคล จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง

ข้อ 14.
ค่าบำรุงหอการค้า
14.1 สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบต้องชำระค่าแรกเข้าและค่าบำรุงสมาชิกตั้งแต่เดือนที่คณะกรรมการมีมติให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกต่อไปอีก 12 เดือน
14.2  สมาชิกใหม่ต้องชำระค่าแรกเข้าในอัตรา 2,000 บาท เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ไม่ต้องชำระค่าแรกเข้า
14.2.1 หากสมาชิกใหม่นั้นเป็นสมาชิกสมทบที่เป็นนิติบุคคล
14.2.2 หากสมาชิกใหม่นั้นได้สมัครสมาชิกภายใน 6 เดือนนับจากวันที่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 
14.2.3 หากสมาชิกใหม่นั้นได้สมัครสมาชิก ณ งานอีเว้นท์ที่จัดหรือร่วมเป็นผู้สนับสนุน (sponsor) โดยหอการค้า
14.3 ค่าบำรุงสมาชิกประจำปีให้เรียกเก็บจากสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบในอัตราดังต่อไปนี้
14.3.1 จำนวน 8,000 บาทต่อปี สำหรับสมาชิกสามัญ
14.3.2 จำนวน 3,500 บาทต่อปี สำหรับสมาชิกสมทบที่เป็นบุคคลธรรมดามีอายุต่ำกว่า 30 ปี
14.3.3 จำนวน 6,000 บาทต่อปี สำหรับสมาชิกสมทบที่เป็นบุคคลธรรมดามีอายุ 30 ปี หรือเกินกว่า 30 ปี
14.3.4 จำนวน 8,000 บาทต่อปี สำหรับสมาชิกสมทบที่เป็นนิติบุคคล
14.4 การเสนออนุมัติค่าแรกเข้าและค่าบำรุงสมาชิกประจำปีนั้น จะต้องได้รับเสียงส่วนใหญ่ที่อนุมัติเป็นจำนวนร้อยละ 75 ของคณะกรรมการ และเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ โดยให้ค่าบำรุงสมาชิกนั้นรวมภาษีของรัฐที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงภาษีที่เกี่ยวข้องกับค่าบำรุงสมาชิก


ข้อ 15.
สมาชิกผู้ใดที่ประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพจะต้องแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานคณะกรรมการ และให้ใช้เงินที่ยังไม่ได้ชำระรวมทั้งเงินค่าบำรุงสมาชิกที่ค้างชำระ

ข้อ 16.
หอการค้าจะให้สมาชิกที่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเมื่อเห็นว่าการให้อยู่ในสมาชิกภาพต่อไปจะนำความเสื่อมเสียมาสู่หอการค้าออกจากสมาชิกภาพได้ การให้ออกจากสมาชิกภาพนั้นจะต้องได้รับเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม การมอบฉันทะให้ลงคะแนนเสียงจะกระทำได้โดยต้องมอบฉันทะเป็นหนังสือ และต้องยื่นหนังสือดังกล่าวต่อประธานกรรมการหรือเลขานุการก่อนการประชุมและให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกที่ถูกลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพทราบด้วย

ข้อ 17.สมาชิกภาพจะสิ้นสุดโดยมติของคณะกรรมการด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
17.1      ตาย ในกรณีสมาชิกเป็นบุคคลธรรมดา
17.2     ลาออก
17.3     ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือถูกพิพากษาว่ามีความผิด
17.4     เลิกหรือสิ้นสุดลงซึ่งกิจการ
17.5     สิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อ 16
17.6     ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ.
17.7     ค้างชำระค่าบำรุงสมาชิกเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่ได้รับคำเตือนจากหอการค้า

หมวด 4 การประชุมใหญ่

ข้อ 18.
การประชุมใหญ่สามัญจะจัดให้มีขึ้นดังนี้
18.1     ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชีเพื่อพิจารณารายงานประจำปีของผลการดำเนินการของหอการค้า พิจารณาอนุมัติงบดุล พิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมการ พิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและพิจารณากิจการอื่นๆ
18.2     เว้นแต่ที่กำหนดไว้ในข้อ 18.4 สมาชิกทุกคนจะได้รับแจ้งให้ทราบถึงการจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีทางไปรษณีย์ หรือทางโทรสารหรือทางอีเมล์ หรือโดยพนักงานส่งเอกสารเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันล่วงหน้าก่อนวันประชุม หนังสือเรียกประชุมจะต้องระบุวัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม
18.3     เว้นแต่ที่กำหนดไว้ในข้อ 18.4 การประชุมวิสามัญอาจจัดให้มีขึ้นเมื่อใดก็ได้หากคณะกรรมการหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดทำเป็นหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการ ซึ่งเสียงข้างมากต้องเป็นชาวสิงคโปร์ ถ้าหนังสือร้องขอให้มีการประชุมวิสามัญไม่ได้ทำโดยสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดซึ่งเสียงข้างมากเป็นชาวสิงคโปร์ การร้องขอดังกล่าวนั้นจะถือว่าเป็นโมฆะอย่างไรก็ตาม สมาชิกสามัญอาจมีหนังสือร้องขอถึงคณะกรรมการให้เรียกประชุมวิสามัญเวลาใดก็ได้เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ข้างต้นหนังสือเรียกประชุมนั้นจะต้องจัดส่งให้สมาชิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนวันประชุมโดยให้ระบุในหนังสือเรียกประชุมนี้ถึงจุดประสงค์ของการเรียกประชุม วัน เวลา สถานที่ประชุมด้วย
18.4     ในการประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญทุกครั้ง องค์ประชุมจะต้องประกอบด้วยสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือโดยรับมอบฉันทะ และจำนวนสมาชิกส่วนใหญ่ที่เข้าประชุมต้องเป็นสัญชาติสิงคโปร์ การได้รับมอบฉันทะเป็นหนังสือเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมแทนสมาชิกอื่นให้นับรวมเป็นองค์ประชุมด้วย สมาชิกแต่ละรายจะรับมอบฉันทะได้เพียงเสียงเดียวเท่านั้นถ้ากำหนดการประชุมได้ล่วงเลยไป 30 นาทีหลังกำหนดเวลาเริ่มประชุมมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุมให้เลื่อนการประชุมนั้นออกไป และประชุมใหม่หลังจากนั้น 14 วัน และให้ส่งหนังสือเรียกประชุมในการประชุมครั้งถัดไปให้สมาชิกอย่างน้อย 7 วันก่อนวันประชุมประธานที่ประชุมใหญ่จะนับองค์ประชุมก่อนเริ่มการประชุมใหญ่ ถ้าเวลาล่วงเลยมาแล้ว 15 นาที ประธานที่ประชุมยังไม่มาปรากฎ ให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมเลือกประธานที่ประชุมเพื่อดำเนินการจัดประชุมต่อไป
18.5     ให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่เลือกตั้งตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ(กรรมการ 9-15คน)
18.6     เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ มติที่ประชุมใหญ่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญหรือผู้แทนที่เข้าประชุม
18.6     การประชุมใหญ่อาจจัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาต

หมวด 5 คณะกรรมการบริหาร

ข้อ 19.
คณะกรรมการบริหารจะต้องยึดถือหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
19.1     ให้คณะกรรมการมีหน้าที่บริหารกิจการของหอการค้า โดยได้รับเลือกจากสมาชิกสามัญโดยที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการจะต้องประกอบด้วยสมาชิกสามัญที่ได้รับเลือกอย่างน้อยจำนวน 9 คน แต่ไม่เกิน 15 คนโดยคณะกรรมการส่วนใหญ่จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติสิงคโปร์ และให้คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี
19.1.1    การเลือกตั้งคณะกรรมการให้กระทำด้วยวิธีการชูมือให้กับผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการสนับสนุนเว้นแต่สมาชิกคนใดคนหนึ่งร้องขอให้ลงคะแนนลับ การลงคะแนนลับจะกระทำด้วยวิธีใดแล้วแต่ประธานที่ประชุมจะสั่ง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันจะเป็นการชูมือก็ดีหรือในการลงคะแนนลับก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือก
19.1.2    คณะกรรมการทั้งหมดต้องออกจากตำแหน่งเมื่อครบวาระตามที่ระบุในข้อ 19.1 และกรรมการผู้ออกไปนั้นอาจได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้โดยไม่จำกัดตามวิธีการต่างๆ ที่จำเป็น
19.2     ให้คณะกรรมการหอการค้าเลือกตั้งตำแหน่งต่อไปนี้1. ประธานกรรมการ2. รองประธานกรรมการ3. เลขานุการ4. เหรัญญิกโดยเลือกจากคณะกรรมการของหอการค้า
19.3     ประธานกรรมการต้องมีสัญชาติสิงคโปร์ และประธานกรรมการเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการในการประชุมของคณะกรรมการทุกครั้ง ประธานกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะกรรมการ ในกรณีที่ประธานไม่อยู่ให้รองประธานเป็นผู้ทำหน้าที่แทนในกรณีที่ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ คณะกรรมการจะเลือกสมาชิกคณะกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมชั่วคราวก็ได้
19.4     การประชุมคณะกรรมการจะต้องประกอบไปด้วย กรรมการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อย 12 ครั้งในระหว่างดำรงตำแหน่ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมได้
การประชุมคณะกรรมการอาจจัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาต
19.5     เลขานุการเป็นผู้เก็บรักษาเอกสารทั้งหมดของหอการค้า นอกจากเอกสารเกี่ยวกับการเงินของหอการค้าและจัดทำรายงานการประชุมใหญ่หรือการประชุมคณะกรรมการเพื่อให้มีการตรวจสอบและลงนามโดยประธานกรรมการตลอดจนจัดส่งสำเนารายงานการประชุมต่างๆที่ได้ลงนามแล้วไปยังคณะกรรมการแต่ละท่านหลังการประชุมแต่ละครั้ง
19.6     เหรัญญิกเป็นผู้ควบคุมดูแลด้านการเงินต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหอการค้าทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าวในข้อ 2. ไม่สามารถนำไปขาย หรือโอนหรือใช้ชำระหนี้ได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จากการประชุมใหญ่วิสามัญหรือการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
19.7     กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งอาจขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการเวลาใดก็ได้ โดยแสดงความจำนงดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานกรรมการ ในกรณีที่คณะกรรมการหอการค้าเหลือน้อยกว่า 9 คน ให้คณะกรรมการเรียกประชุมวิสามัญเพื่อเลือกตัวกรรมการ
19.8     คณะกรรมการมีสิทธิแต่งตั้งอนุกรรมการต่างๆ อันประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อย 1 คน เพื่อจัดการเรื่องใดๆเป็นพิเศษ คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีดำเนินการของคณะอนุกรรมการดังกล่าว
19.9     ให้คณะกรรมการเสนอชื่อของบุคคลธรรมดาผู้ได้รับการเสนอชื่อที่มีสัญชาติสิงคโปร์หรือสัญชาติอื่นมาเป็นที่ปรึกษา โดยบุคคลธรรมดาเหล่านี้จะต้องมีความสามารถที่จะให้คำปรึกษาและให้บริการที่เป็นประโยชน์แก่หอการค้าได้ที่ปรึกษาแต่ละคนต้องได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการของคณะกรรมการของหอการค้าอย่างน้อย 1 คน และได้รับคะแนนเสียงอนุมัติจากคณะกรรมการเป็นจำนวนร้อยละ 75 และผู้ที่เป็นสมาชิกหรือไม่ได้เป็นสมาชิกของหอการค้าที่ปัจจุบันมิได้ดำรงตำแหน่งกรรมการของหอการค้าก็ได้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อให้เป็นที่ปรึกษาได้ที่ปรึกษาแต่ละคนจะดำรงตำแหน่งคราวละ 1 ปี นับแต่วันที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมการอาจเลือกบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่งที่ว่างก็ได้ แต่บุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษาเช่นนั้น จะดำรงตำแหน่งได้เพียงตามเวลาที่เหลืออยู่ของที่ปรึกษาคนก่อน หรือจะปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้ก็ได้ ในกรณีดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
19.9.1     ตาย
19.9.2    ออกจากตำแหน่งตามวาระ
19.9.3    ลาออกโดยส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อประธาน
19.9.4   ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
19.9.5   ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
19.10     คุณสมบัติของที่ปรึกษาผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษาจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
19.10.1   เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
19.10.2  ไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
19.10.3  ไม่เคยเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้ต้องโทษจำคุกมาก่อน เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
19.10.4  เป็นผู้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงพอสมควร19.10.5  เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
19.11      ประธานกิตติมศักดิ์อาจได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการหอการค้า และได้รับการแต่งตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของการประชุมใหญ่วิสามัญหรือการประชุมใหญ่สามัญประจำปีประธานกิตติมศักดิ์ มีวาระตลอดชีพ และต้องเป็นผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าอย่างน้อย 3 วาระ และอาจได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการหอการค้าอีกได้
19.12      หอการค้าจะให้กรรมการที่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเมื่อเห็นว่าการให้บุคคลนั้นอยู่ในฐานะกรรมการต่อไปจะนำความเสื่อมเสียมาสู่หอการค้าออกจากเป็นกรรมการได้ การให้ออกจากการเป็นกรรมการนั้นจะต้องได้รับเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสาม (2/3) ของจำนวนกรรมการบริหารที่เข้าประชุมกรรมการบริหาร การมอบฉันทะให้ลงคะแนนเสียงจะกระทำได้โดยต้องมอบฉันทะเป็นหนังสือ และต้องยื่นหนังสือดังกล่าวต่อประธานกรรมการหรือเลขานุการก่อนการประชุมและให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้กรรมการที่ถูกลงมติให้สิ้นสุดการเป็นกรรมการนั้นทราบด้วย

ข้อ 20.
การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการจะสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
20.1      เมื่อสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งตามวาระหรือในกรณีที่มีการลาออกตามข้อ 19.7
20.2     เมื่อสมาชิกภาพของกรรมการคนใดคนหนึ่งของหอการค้าสิ้นสุดลงตามข้อ 15, 16 และ 17
20.3     เมื่อกระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966)

ข้อ 21.
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งผู้อำนวยการหอการค้า หรือเลขานุการผู้อำนวยการหอการค้า เพื่อทำหน้าที่บริหารงานของหอการค้าตามวัตถุประสงค์ นโยบายข้อบังคับและกฎระเบียบของหอการค้าภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการ ผู้อำนวยการหอการค้าอาจเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการได้แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมดังกล่าว ถ้าผู้อำนวยการหอการค้ามิใช่คณะกรรมการของหอการค้า การลงนามในเอกสารต่างๆของผู้อำนวยการหอการค้านั้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ในกรณีที่ผู้อำนวยการหอการค้าไม่มี ให้ประธานหอการค้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว

หมวด 6 การแก้ไขระเบียบข้อบังคับ

ข้อ 22.
ข้อบังคับของหอการค้าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่สามัญหรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญและเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
22.1     ข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนั้นต้องระบุไว้ในวาระการประชุม ซึ่งได้จัดส่งให้สมาชิกแต่ละรายของหอการค้าแล้ว และ
22.2    การตัดสินตามข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวให้ใช้เสียงข้างมากสองในสามส่วน (2/3) ของจำนวนสมาชิกสามัญหรือผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม

หมวด 7 การบัญชีของหอการค้า

ข้อ 23.
วันสิ้นปีทางบัญชีของหอการค้า ให้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

ข้อ 24.
ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีแต่ละครั้งจะเลือกบุคคลหนึ่ง หรือหลายคน ซึ่งไม่ใช่สมาชิกของคณะกรรมการเป็นผู้สอบบัญชีก็ได้ เพื่อตรวจสอบงบดุลประจำปี รวมทั้งบัญชีต่างๆของหอการค้า และให้ที่ประชุมใหญ่สามัญกำหนดสินจ้างของผู้สอบบัญชี

ข้อ 25.
คณะกรรมการจะต้องจัดทำงบดุลและงบรายรับรายจ่ายทางบัญชีและรายงานประจำปีของหอการค้าประจำปีและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้เสร็จสิ้นก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีและเสนองบดุล ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วและรายงานประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติและรับรองภายใน 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี

หมวด 8 การเลิกหอการค้า


หอการค้าจะเลิกในกรณีดังต่อไปนี้
26.1     เมื่อปรากฏว่าการกระทำของหอการค้าผิดต่อกฎหมายหรือเป็นภัยต่อเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศหรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
26.2    เมื่อหอการค้าปฏิบัติการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 และการกระทำนั้นเสียหายอย่างร้ายแรง
26.3    เมื่อหอการค้าไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปหรือหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่สองปีขึ้นไป
26.4    เมื่อปรากฏว่าหอการค้าให้หรือยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่กรรมการดำเนินกิจการในหน้าที่ของกรรมการ
26.5    มติที่ประชุมโดยคะแนนเสียงสองในสามส่วน (2/3) ของจำนวนสมาชิกสามัญหรือผู้รับมอบฉันทะที่เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญหรือประชุมใหญ่วิสามัญ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อการนี้
26.6    เมื่อหอการค้าล้มละลาย

ข้อ 27.
ในกรณีที่หอการค้าต้องเลิกไปตามข้อ 26.5 ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีเสียด้วย และหากต้องเลิกไปตามมาตรา 26.1-26.4 ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีของหอการค้า

ข้อ 28.
หลังจากเลิกหอการค้าถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่หลังจากการชำระบัญชีแล้วต้องโอนให้แก่องค์การกุศลสาธารณะที่คณะกรรมการเห็นสมควร

หมวด 9 บทเฉพาะกาล

ข้อ 29.
เมื่อนายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นหอการค้าแล้ว ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคนทำหน้าที่คณะกรรมการ(ชั่วคราว) จนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้ การประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการจะต้องจัดให้มีขึ้นภายในกำหนดเวลา หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นหอการค้าแล้ว

ข้อ 30.
เพื่อประโยชน์แห่งความในบังคับข้อ 12. ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคนทำหน้าที่เป็นสมาชิกสามัญ

ข้อ 31.
ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนหอการค้าจังหวัดกรุงเทพมหานครได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นหอการค้าเป็นต้นไป

All rights reserved © 2024 Singapore-Thai Chamber of Commerce